Comfort Zone เป็นศัพท์ทางจิตวิทยาที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้หลายรูปแบบ ความหมายคือ สภาวะทางจิตใจโดยที่ตัวเราได้กำหนดพื้นที่ที่ขึ้นมาบริเวณหนึ่งเพื่อใช้ชีวิตภายในขอบเขตที่เรากำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันหรือการทำงาน โดยมีความวิตกกังวลและความเครียดในระดับต่ำ เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะอยู่ภายใต้ความควบคุมและไม่มีอะไรแปลกใหม่ให้ต้องเสี่ยง พฤติกรรมส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้จะเกิดประจำจนเป็นความเคยชิน
คนที่ประสบความสำเร็จล้วนก้าวออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง
การที่เราอยู่ในพื้นที่ Comfort Zone ของเราโดยไม่พยายามที่จะเรียนรู้หรือพัฒนาอะไรเลย เพราะไม่อยากเผชิญการเปลี่ยนแปลงหรือกลัวความผิดพลาด แต่ขณะเดียวกันเราก็จะขาดโอกาสในการพัฒนาตัวเองและใช้ศักยภาพที่มีอยู่ไม่ได้เต็มที่
bordered”]บริษัทที่ผู้บริหารไม่กระตุ้นให้พนักงานออกจาก Comfort Zone มักจะไม่มีผลงานใหม่ๆออกมา เรียกได้ว่าย่ำอยู่กับที่ ในที่สุดก็จะไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้
คนที่ประสบความสำเร็จแทบทุกคนจะมีแนวความคิดที่จะเอาชนะความเคยชินของตัวเอง ท้าทายความกลัวของตัวเองด้วยการกล้าที่จะก้าวออกมาจาก Comfort Zone ของตัวเอง
สตีฟ จอบส์ CEO ของบริษัท Apple เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่ประสบความสำเร็จที่ออกมาจาก Comfort Zone ของเขาอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เขากล้าที่จะลาพักเรียนเมื่อไม่เห็นความน่าสนใจของวิชาที่เขาศึกษาอยู่ และได้ลงเรียนเฉพาะวิชาที่สนใจคือวิชาการประดิษฐ์ตัวอักษร ในที่สุดเขาก็ลาออกจากมหาวิทยาลัย แม้ว่าเพื่อนคนอื่นๆคิดว่าอย่างน้อยต้องเรียนให้จบปริญญาเพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานในอนาคต แต่เขาก็ไม่สนใจ ในที่สุดเขาก็ตัดสินเปิดบริษัท Apple computer และผลิตคอมพิวเตอร์ Macintoch ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลกยุคนั้น และได้ใช้ความรู้จากวิชาประดิษฐ์ตัวอักษรที่เคยเรียนมาใช้กับคอมพิวเตอร์ที่เขาผลิตขึ้นมาอีกด้วย
ผู้บริหารที่ดีก็ควรกระตุ้นผู้ใต้บังคับบัญชาให้ออกมาจาก Comfort Zone ตามสมควร เช่น การเปลี่ยนแผนกหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่นเดิมอยู่การตลาดก็เปลี่ยนไปทำบัญชี หรือจากงานคอมพิวเตอร์ก็ให้ลองไปทำฝ่ายขาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตัวเองในงานใหม่ๆ มีโอกาสเรียนรู้งานด้านอื่นๆ
จริงอยู่บางครั้งอาจทำให้เกิดความเครียดหรือกังวลในช่วงแรกๆ แต่หากทำได้ก็จะเป็นการพิสูจน์ตัวเองและค้นหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ บางครั้งอาจจะทำได้ดีกว่างานเดิมก็ได้
เตรียมความพร้อมอย่างไรเมื่อตัดสินใจจะก้าวออกจาก Comfort Zone
การก้าวผ่านจาก Comfort Zone ก็คือการที่เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำอะไรใหม่ๆ เช่น ตำแหน่งหน้าทีการทำงานใหม่ วิธีการทำงานแบบใหม่ ความรับผิดชอบใหม่ อาจต้องพบกับเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ แม้จะทำให้เกิดความกังวลที่เพิ่มขึ้น แต่ในทางจิตวิทยาก็ถือว่า ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นนั้นหากมีไม่มากจนเกินไปซึ่งกระตุ้นความเครียดให้เกิดขึ้นในระดับที่ควบคุมได้จะทำให้เกิดความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่หากเกิดความเครียดสูงเกินไป อาจส่งผลกระทบในทางลบได้ นั่นคือ อาจกังวลจนทำงานไม่ได้เลย
ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนรอบข้างและตัวเราต้องเตรียมตัวของเราให้ดีก่อนที่จะก้าวออกมาจาก Comfort Zone ของเรา
อันดับแรก : ศึกษาหาข้อมูล
เตรียมตัวเราให้พร้อมในสิ่งที่เราไม่เคยชิน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก งานที่เราต้องทำเป็นอย่างไรแบบไหน เราต้องไปเจอใครหรืออะไรบ้าง การที่มีต้นทุนเป็นข้อมูลน่าจะทำให้เรากังวลน้อยลง
อันดับสอง : วางแผนและฝึกฝนเป็นขั้นตอน (ก่อนที่จะไปลงสนามจริง)
และเตรียมใจที่จะเจอกับอุปสรรคและปัญหา คิดไว้เลยว่าหากปัญหาเป็นแบบนี้เราจะรับมืออย่างไร อย่าลืมสร้างความมั่นใจให้ตัวเองในการพร้อมรับมือกับปัญหาเพราะในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆปัญหาเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา การที่เราเตรียมตัวไว้ก่อนเพื่อที่ว่าจะได้ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป
อันดับสาม : ตั้งเป้าหมายอย่างเป็นลำดับที่เป็นไปได้
เมื่อทำได้แต่ละขั้นก็อย่าลืมที่จะชื่นชมตัวเอง เพราะอย่างน้อยในจุดเริ่มต้นที่เราสามารถกล้าตัดสินใจก้าวออกมาจาก Comfort Zone ของเราก็เป็นความกล้าหาญที่ยิ่งใหญ่แล้ว
เมื่อเราเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจเรียบร้อยก็ถึงขั้นตอนที่เราก้าวออกมาและพร้อมจะลงสนามเต็มตัว การปฏิบัติจริงก็ถือเป็นการฝึกฝนอย่างหนึ่ง อย่าลืมว่าอาจมีถูกบ้างหรือบางครั้งอาจจะผิดพลาด กำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ พยายามมองในแง่ดี และฝ่าฟันอุปสรรคไปให้ได้ ทำให้ดีที่สุด และอย่าลืมว่าอาจมีหลายคนรอบข้างที่พร้อมช่วยเหลือและแนะนำเวลาที่มีปัญหา
ในที่สุดหากเราผ่านไปได้ความภาคภูมิใจจะตามมาและเราจะเติบโตขึ้นอีกขั้น พร้อมที่จะพัฒนาตนเองสำหรับ Comfort Zone ใหม่ๆ
ที่สำคัญที่สุดอย่าลืมดูแลร่างกายตนเอง รักษาสุขภาพกายให้แข็งแรง กายพร้อมใจพร้อม เพื่อมีแรงสู้กับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อไป
เรียบเรียงจาก
– บทความ “เอาชนะความกลัวและพัฒนาตัวเองด้วยการก้าวข้ามผ่าน Comfort Zone” โดย หมอมินบานเย็น Facebook สมาคิมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
– wikipedia.org