ผ่านมาแล้ว 2 ตอน นะครับ สำหรับภาวะหมดไฟ (Burnout) เรื่องใกล้ตัวคนทำงาน
ท่านใดที่ยังไม่ได้อ่านก็สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่นะครับ
อาการภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) EP.1 ทำความรู้จักและลองสังเกตตัวเอง-คนรอบตัว
อาการภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) EP.2 เรียงลำดับ 12 ขั้นตอนของการเกิดภาวะหมดไฟ
มาถึงตอนสุดท้ายกันแล้วนะครับ วันนี้เราจะมาหาสาเหตุและรับมือแก้ไขกับภาวะหมดไฟ (Burnout)
สาเหตุของการเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout)
สามารถแยกประเภทได้ 3 กลุ่มปัจจัย ดังนี้
1. ปัจจัยส่วนบุคคล (Individual Aspect)
– ไม่รู้หรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญ/คุณค่าของงานที่ทำ
– มีความคาดหวังที่มากเกินกว่าความเป็นจริง เช่น หวังว่ารายได้จะเยอะกว่านี้ หวังว่าจะก้าวหน้าได้เร็ว ๆ หวังว่าจะเป็นที่ชื่นชม เป็นต้น
การคาดหวังสูงๆ แล้วไม่ได้อย่างที่หวังซ้ำๆ จะเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) ได้ง่าย
– มีบุคลิกภาพแบบไม่ยืดหยุ่น ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้ยาก
– มีลักษณะนิยมความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) เช่น
กังวลหมกมุ่นกับความผิดพลาดอย่างมาก และมีมาตรฐานสูงจนเกินไป
– โสด หลายคนอาจแปลกใจหรือขำหรือสะดุ้งตกใจ(กับตัวเอง) แต่การศึกษาพบว่าคนโสดจะเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) มากกว่าผู้ที่มีแฟนหรือแต่งงาน ซึ่งก็เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะการมีคนอยู่ด้วย คุยด้วย ปรับทุกข์ด้วยย่อมดีกว่าอยู่แล้ว
2. ปัจจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Aspect)
– ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในหมู่เพื่อนร่วมงาน โดยพบหากคนในที่ทำงานไม่สนิทกันจะยิ่งเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) ได้ง่าย
3. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Aspect)
– มีเพื่อนร่วมงานที่เกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) จากการศึกษาพบว่าการเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) นี่เหมือนโรคติดต่อ หากที่ทำงานเดียวกันมีคนเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) หลายคน คนที่เหลือมีโอกาสเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) ได้ง่าย และตรงข้ามหากไม่มีใครเป็น โอกาสที่คนจะเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) ขึ้นมาก็จะน้อยลงไป
– ค่าตอบแทนไม่เหมาะสมกับงานที่ทำ เช่น ค่าตอบแทนน้อยเกินไป
– งานที่เคร่งเครียด กดดัน และมีความต้องการผลสำเร็จของงานสูงในระยะเวลาอันสั้น
– งานที่ขาดความมั่นคง และไม่มีความเจริญก้าวหน้า เช่น งานประเภทที่จะถูกเลิกจ้างเมื่อไรก็ไม่รู้ หรือไม่มีโอกาสเติบโตในชีวิตการทำงานเลย
4. ปัจจัยด้านการบริหารองค์กร (Organizational Management Aspect)
การหมดไฟไม่ใช่ปัญหาของคนเท่านั้น แต่องค์กรมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ดังที่จะเห็นได้ว่า ที่ทำงานบางที่มีแต่คนเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) เกลื่อนกลาดเต็มไปหมด ใครเข้ามาทำอยู่ได้ไม่นาน ก็หมดไฟ ลาออก วนเวียนไปมาแบบนี้ไม่มีสิ้นสุด
ลักษณะของที่หน่วยงานหรือองค์กรที่จะเป็นแหล่งสร้างคนให้เกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) มีลักษณะดังนี้
– ปริมาณงานมากเกินไปแต่ทรัพยากรในการทำงานน้อย เช่น สถานที่ราชการบางแห่ง มีคนมาติดต่อวันหนึ่งจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่มีน้อย แถมอุปกรณ์ก็ห่วย เช่นคอมพ์เก่า แอร์เจ๊ง ฯลฯ
– ไม่มีเวลาว่าง/ไม่มีวันหยุดพักร้อน ซึ่งทำให้คนเหนื่อยล้าได้ง่าย
– ต้องคอยรับหน้าแต่ไม่สามารถตัดสินใจหรือไม่มีอำนาจในการสั่งการ เช่น พนักงานต้อนรับที่แต่ละวันต้องแก้ปัญหาให้กับลูกค้าจำนวนมาก แต่กลับไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ จะทำอะไรก็ต้องถามผู้จัดการก่อนทุกครั้ง
– ขาดสิ่งจูงใจในการทำงาน ทำดีไม่ได้ดี หรือทำมากทำน้อยก็ได้ผลตอบแทนเท่ากัน หรือทำดีไม่เคยชมแต่ทำพลาดด่าอย่างเดียว
ข้อนี้เป็นระดับคลาสิค โดยเฉพาะทำงานในหน่วยงานรัฐ ที่พบว่า
ทำงานมากทำงานน้อย สุดท้ายได้เงินเดือนเท่ากัน ได้ขั้นเท่ากัน ใครทำงานดียิ่งได้งานเยอะ ในขณะที่ใครไม่ค่อยมาทำงานก็ยิ่งสบายขึ้นเรื่อย ๆ (ในอัตราเงินเดือนที่เท่ากัน)
– ไม่มีความยุติธรรมในองค์กร เช่น มีการเล่นเส้นเล่นสาย เลือกที่รักมักที่ชัง ประเมินผลงานแบบไม่ยุติธรรม ทำงานดีแต่สู้คนที่ประจบเจ้านายไม่ได้
– มีการบริหารงานที่ยุ่งยาก ซับซ้อน เป็นพิธีรีตองมากจนเกินไป ในข้อนี้ใครทำงานหน่วยงานราชการน่าจะเข้าใจง่ายขึ้น เช่น การจะขอหนังสือสักฉบับอาจจะต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ใช้เวลาหลายสัปดาห์ ต้องการติดต่อขอพบผู้บริหารระดับสูง อาจจะต้องใช้เวลานัดเป็นเดือน เป็นต้น
จะทำอย่างไรดีเมื่อพบว่าเราเริ่มติดอยู่ในขั้นของภาวะหมดไฟ (Burnout) เข้าให้แล้ว
สิ่งสำคัญที่ควรระลึกไว้เสมอก็คือ เรื่องภาวะหมดไฟ (Burnout) ไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับบุคคลอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องแก้ไขในระดับขององค์กรด้วย เนื่องจากภาวะหมดไฟ (Burnout) เป็นภาวะที่เกิดจากความเครียดในที่ทำงาน หากที่ทำงานยังเหมือนเดิมก็คงยากที่ปัญหาจะหายไป ต่อให้คนเก่าลาออกไป คนใหม่ที่เข้ามาก็มีโอกาสเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) ได้สูงอยู่ดี จนบางครั้งกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ต้องเปลี่ยนคนทำงานทุก 1-2 ปี
การแก้ไขในระดับบุคคล
ในประเทศแคนาดาได้มีการศึกษาถึงการแก้ปัญหาภาวะหมดไฟ (Burnout) โดยได้มีการสอบถามแพทย์อาวุโสหลายท่านที่มีความสามารถในการปรับตัวได้ดีในเรื่องการจัดการกับภาระงานและการสร้างสมดุลในชีวิต
คำตอบที่ได้มีข้อสรุป ดังนี้
1.การมีมุมมองต่ออาชีพว่าเป็นงานที่มีคุณค่ารู้สึกภาคภูมิใจกับงานที่ทำ
2.การบริหารเวลา จัดลำดับความสำคัญของงาน
ควรมีเวลามองภาพรวมของงานอยู่เสมอ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
3.การบริหารคน ทีมที่ดีช่วยผ่อนแรงได้ การมอบหมายงานให้ตรงกับความถนัดของแต่ละคนก็เช่นกัน
4.การยอมรับและให้อภัยตนเองได้เมื่อเกิดข้อผิดพลาด
5.กระตือรือร้นพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงการสอนหรือถ่ายทอดงานก็เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้
6.ควรสังเกตตัวเอง เมื่อเริ่มเหนื่อยล้าต้องหยุดพัก
7.การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
หากในบางครั้งที่มีความรู้สึกเหนื่อยล้าและต้องการหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิต การอ่านหนังสือหรือศึกษาปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาที่ตนเองนับถือก็อาจช่วยทำให้เข้าใจชีวิตได้มากขึ้น
8.การพูดคุยแลกเปลี่ยนหรือปรึกษากับเพื่อนร่วมอาชีพ หรือคนในครอบครัวก็ช่วยประคับประคองจิตใจยามที่เกิดปัญหา
ทั้งนี้ หากพบว่าเป็นมากจนถึงขั้น 11, 12 ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป
การแก้ไขในระดับองค์กร
การแก้ไขในระดับองค์กร ก็คือให้แก้ตามสาเหตุของการเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) อาทิ
– สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี เช่น ส่งเสริมให้คนในที่ทำงานสนิทสนมกัน เรียนรู้วิธีทำงานร่วมกันเป็นทีม
– มีช่วงเวลาและระบบการฝึกงานที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาทำงานเข้าใจและทำงานได้ ไม่ใช่ให้มาลองผิดลองถูกกันเอาเอง
– มีรายได้ที่เหมาะสมกันงาน รวมทั้งมีสิ่งจูงใจอื่นๆ เช่น อาจมีรางวัล โบนัส ให้รางวัลพนักงานดีเด่น เป็นต้น ใครทำดีมีความสามารถ ก็ควรได้ดีตามความสามารถ
– ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น และเพิ่มทรัพยากรให้เพียงพอกับงาน
– มีบุคลากรหรือหน่วยงานที่สามารถให้คำปรึกษาได้
– มีเวลาให้พักผ่อนและวันพักร้อนอย่างเหมาะสม
– มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้นหรือมีโอกาสเจริญก้าวหน้าในการทำงาน
– มีการระบุให้ชัดเจนว่างานที่ทำครอบคลุมส่วนใด และต้องทำอะไรบ้าง ไม่ใช่เบลอ ๆ ทำงานกันแบบไม้จิ้มฟันยันเรือรบ
– ปรับปรุงระบบการบริหารงานให้คล่องตัวและรวดเร็ว ไม่ซับซ้อน
– และสุดท้ายผู้บริหารและองค์กรควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) ด้วย
เรียบเรียงจาก
– บทความ “หมดไฟ” …. “Burnout” โดย หมอคลองหลวง จาก Facebook สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
– wikipedia.org