โรคหลงตัวเอง (Narcissistic personality disorder) หรือ ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Social Network เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน โดยอาการหลักๆ ได้แก่ การที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองสำคัญมากกว่าความเป็นจริง มีความต้องการถูกชมเชยมากเกินปกติ และการไม่เข้าใจความรู้สึกผู้อื่น พวกเขามักเอาเปรียบคนรอบข้าง
โรคนี้ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2468 โดยโรเบิร์ต วีลเดอร์ (Robert Wealder) สำหรับชื่อ (Narcissistic personality disorder, NPD) ที่ใช้ในปัจจุบันถูกใช้ครั้งแรกใน พ.ศ. 2511
อัตราการพบผู้ป่วยโรคหลงตัวเอง
จากการวิจัยพบว่าในกลุ่มประชากรปกติ จะมีคน 1% ที่จะป่วยด้วยโรคหลงตัวเอง (Narcissistic personality disorder) โรคนี้มักเกิดขึ้นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและในคนหนุ่มสาวมากกว่าคนมีอายุ
อาการของโรคหลงตัวเอง
คนที่เป็นโรคหลงตัวเองจะชอบโอ้อวด ต้องการให้คนอื่นชม ชอบเหยียดหยามผู้อื่น และขาดความร่วมรู้สึกต่อผู้อื่น
ทำให้ผู้เป็นโรคหลงตัวเองดูเหมือนมีพฤติกรรมที่ดื้อรั้น รู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น และมักคอยหาทางควบคุมผู้อื่นหรือใช้อำนาจแบบผิด ๆ
นอกจากนี้ผู้เป็นโรคนี้มักมีอาการอัตตาที่เปราะบาง (fragile ego) ทำให้ไม่สามารถทนต่อคำวิจารณ์ของคนอื่นได้ และมักดูถูกคนอื่นเพื่อให้รู้สึกว่าตนเหนือกว่า
คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต พิมพ์ที่ 5 (DSM-5) ระบุว่าบุคคลที่เป็นโรคหลงตัวเองมักมีอาการบางข้อหรือทุกข้อต่อไปนี้
– โอ้อวดตนเอง เพื่อให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนราวกับว่าตนอยู่เหนือกว่า
– จินตนาการ เกี่ยวกับอำนาจ ความสำเร็จ ความฉลาด ความมีเสน่ห์ และอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา
– มองว่าตัวเองพิเศษ เหนือกว่าผู้อื่น
– ต้องการให้คนอื่นชื่นชมตัวเองตลอดเวลา
– รู้สึกว่าตนเองควรได้รับการปฏิบัติแบบพิเศษและผู้อื่นควรเชื่อฟังตน
– เอาเปรียบผู้อื่นเพื่อให้เกิดผลดีต่อตนเอง
– ไม่ยอมเข้าใจความรู้สึก ความต้องการ และความจำเป็นของผู้อื่น
– อิจฉาผู้อื่นและเชื่อว่าผู้อื่นก็อิจฉาตนเช่นกัน
– ขี้โม้และมีพฤติกรรมดื้อรั้น
ต้องแสดงอาการนานแค่ไหนถึงจะเข้าขั้นป่วยเป็นโรคหลงตัวเอง
โรคหลงตัวเองมักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นหรือช่วงเข้าสู่ผู้ใหญ่ เด็กและวัยรุ่นอาจมีพฤติกรรมบางอย่างที่คล้ายกับโรคหลงตัวเองทว่ามักเป็นการชั่วคราว และไม่เข้าขายของการวินิจฉัยโรค
อาการที่แท้จริงของโรคมักเกิดขึ้นในหลายเหตุการณ์ และไม่เปลี่ยนแปลงแม้เวลาผ่านไป DSM-5 ระบุุว่าผู้ป่วยต้องแสดงอาการที่แตกต่างจากบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมอย่างเห็นได้ชัดถึงจะเรียกได้ว่าเป็นอาการของโรคหลงตัวเอง
ความแตกต่างระหว่าง “คนมั่นใจในตัวเอง” กับ “คนหลงตัวเอง”
คนมั่นใจในตัวเอง
– แสดงความพอใจตนเองในพื้นที่ของตัวเอง อาจไม่แสดงออกให้คนอื่นเห็นชัดเจน หรือหากจะแสดงออกให้คนอื่นเห็นก็จะไม่ไปรบกวนคนอื่น
– หากมีการเปรียบเทียบ ก็จะเปรียบเทียบในชีวิตตัวเอง เช่น
เปรียบเทียบตัวเองในปัจจุบันกับตัวเองในอดีต แต่จะไม่มีทางเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ด้อยกว่าเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น
คนหลงตัวเอง
– หาโอกาสแสดงความดีงามของตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ยกความดีเข้าตัว หรือโยนความผิดพลาดให้คนอื่น
– หาทางเอาเปรียบคนอื่น และสร้างข้อเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับคนอื่น เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองดีกว่าคนอื่นและสมบูรณ์แบบกว่าคนอื่น
– แอบปรับเปลี่ยนความจริง แต่งเรื่องเพิ่มเติมเพื่อให้ตัวเองดูเป็นฮีโร่หรือตัวเด่นในสถานการณ์ต่างๆ
– คอยหาโอกาสจับผิดคนอื่นและดึงเรื่องๆ นั้นออกมาเป็นประเด็นเมื่อต้องการเอาเปรียบ
สาเหตุ
อ้างอิงจากงานวิชาการของ Leonard Groopman และ Arnold Cooper แสดงให้เห็นปัจจัยที่อาจส่งเสริมให้เกิดโรคหลงตัวเอง คือ
1. นิสัยพื้นฐานตั้งแต่เกิดที่อ่อนไหวมากเกินไป
2. การได้รับการชื่นชมเกินจริง
3. การได้รับการชื่นชมพฤติกรรมดีมากเกินไป หรือได้รับคำวิจารณ์พฤติกรรมไม่ดีที่มากเกินไป
4. ถูกตามใจเกินไป
5. ถูกผู้ใหญ่ชมว่ามีทักษะหรือหน้าตาดี
6. ถูกทารุณกรรมทางอารมณ์อย่างรุณแรงในวัยเด็ก
7. การดูแลที่ไม่สม่ำเสมอจากผู้ปกครอง
8. การเรียนรู้พฤติกรรมชักจูงจากผู้ปกครองหรือเพื่อน
9. ถูกให้ความสำคัญจากผู้ปกครองเพราะพวกเขาต้องการเพิ่มความมั่นใจตนเอง